วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

งานประดิษฐ์

ความหมาย
            ศิลปะประดิษฐ์ มาจากคำว่า ศิลปะ + ประดิษฐ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชยบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2542  ได้ให้ความหมาย  คำว่า ศิลปะ ศิลป์ ศิลปะ  (อ่านว่า  สินละปะ,สิน,สินละปะ) ว่า หมายถึง ฝีมือ ฝีมือทางการช่าง  การทำให้วิจิตรพิสดาร  ส่วนคำว่า ประดิษฐ์  หมายถึง ตั้งขึ้น  จัดขึ้น คิดทำขึ้น สร้างขึ้น แต่งขึ้น ที่จัดทำขึ้นให้เหมือนของจริง
จึงสรุปได้ว่า  ศิลปะประดิษฐ์ คือ ผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยฝีมือประณีต งดงามละเอียดอ่อน ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นตาม วัตถุประสงค์ที่หลากหลาย หรือเพื่อความสวยงาม หรือประดับตกแต่งหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอย


แนวทางในการจัดกิจกรรมงานประดิษฐ์
                หลัดการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ การสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ผู้เรียนต้องมีความพึงพอใจ ในการทำงานโดยยึดหลักการ ดังนี้
                1 หมั่นศึกษาหาความรู้ในงานที่ตนเองสนใจ โดยศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนจากโรงเรียน จากตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่ตนเองสนใจ
                2 ศึกษาหลักการ วิธีการ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ในการประดิษฐ์ชิ้นงานโดยการวิเคราะห์ด้วยตนเองหรือศึกษาจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ หรือจากสื่อต่างๆ เช่น วารสาร หนังสือ เป็นต้น
                3 ทดลองการปฏิบัติการประดิษฐ์ ผู้เรียนต้องศึกษาค้นคว้าและทดลองปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้สร้างสรรค์ไว้ และมีการปรับปรุงแก้ไข ข้อบกพร่องจนสำเร็จเป็นชิ้นงานประดิษฐ์ที่พึงพอใจ


ประโยชน์ของงานประดิษฐ์
1. ประหยัดค่าใช้จ่าย หากสามารถประดิษฐ์ชิ้นงานตามความต้องการได้
2. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และได้สร้างงานที่มีคุณภาพ
3. ความเพลิดเพลิน ทำให้จิตใจจดจ่อต่อชิ้นงานที่ทำและมีสมาธิที่ดีต่อการทำงาน สามารถลดความเครียดได้
4. เพิ่มคุณค่าของวัสดุ เช่น เศษวัสดุ วัสดุท้องถิ่นและอื่น ๆ ทำให้มีมูลค่าและประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
5. สร้างความแปลกใหม่จากที่มีอยู่เดิม ทำให้ไม่ซ้ำแบบเดิม มีการปรับปรุงและดัดแปลงให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
6. ชิ้นงานตรงตามความต้องการ เพราะเป็นผู้ผลิตด้วยตนเองและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธีและถูกต้อง
7. เป็นของกำนัลแก่ผู้อื่น ทำให้เห็นคุณค่าทางจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
8. อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น มาลัย กระทงใบตอง แกะสลักผักและผลไม้ เครื่องแขวนและอื่นๆ เป็นต้น
9. เพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นและตอบสนองความต้องการของชีวิตได้มากขึ้น
10. เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ประดิษฐ์ชิ้นงานได้อย่างมีคุณภาพ สวยงาม เป็นที่ ชื่นชอบและสนใจแก่ผู้พบเห็น